กรมวิทย์ฯ เผย พบ”โอมิครอน”ทุกจังหวัด กทม.มากสุด ปลายเดือนนี้แทนที่เดลต้า

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

 

อธิบดีกรมวิทย์ฯ เผย ไทยพบโอไมครอนแล้วกว่า 1 หมื่นราย กทม.มากที่สุด คาด ปลายเดือน ม.ค. แทนที่เดลต้าทั้งหมด
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในไทย ว่า ขณะนี้ พบสายพันธุ์โอมิครอนในไทยแล้วกว่า 10,721 หมื่นราย ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่พบโอมิครอน โดยพบในกรุงเทพมหานครมากที่สุด 4,178 คน รองลงมา ชลบุรี 837 คน ภูเก็ต 434 คน ระยอง 355 คน สมุทรปราการ 329 คน สุราษฎร์ธานี 319 คน กาฬสินธุ์ 301 คน อุดรธานี 217 คน เชียงใหม่ และ ขอนแก่น จังหวัดละ 214 คน ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์โควิด ตั้งแต่ 11-17 ม.ค. 65 ในกลุ่มผู้ป่วยในคลัสเตอร์ต่างๆ และ กลุ่มผู้ป่วยซ้ำ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า ในคนทั่วไปมีการติดเชื้อโอมิครอนถึง 85% ติดเชื้อเดลตา 15% และพบสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และเสียชีวิต พบว่า เป็นเดลตาถึง 33% สูงกว่าการติดเชื้อปกติถึง 2 เท่า แสดงว่าอัตราการติดเชื้อ โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตา และ พบว่า บุคลากรทางการแพทย์มีการติดเชื้อ เดลตา 25% ติดเชื้อโอมิครอน 74% ขณะเดียวกันพบว่าในส่วนของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ พบติดเชื้อโอมิครอนถึง 97% และพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อซ้ำ8 คน เป็นการติดเชื้อโอมิครอนถึง 100%

ทั้งนี้ แม้ว่าโอมิครอนแม้มีฤทธิ์รุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่หลบภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้อีก จึงจำเป็นต้องมีการรับวัคซีน คาดการณ์ว่าในปลายเดือนมกราคม โอมิครอนจะแพร่และยึดครองได้เกือบ 100% ทั้งนี้จากการติดตามอาการป่วยติดเชื้อ แม้โอมิครอนจะไม่รุนแรง แต่ในกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสียชีวิตได้ เนื่องจากปัจจัยสุขภาพร่างกายพื้นฐานของตัวเอง เดิมอาจไม่ดีเท่าคนทั่วไป จึงมีโอกาสเสียชีวิตได้หลายเท่ากว่าคนปกติ ดังนั้น ต้องระมัดระวังในผู้สูงอายุ และในอนาคตเมื่อมีการติดเชื้อโอมิครอนจำนวนมากขึ้น ก็ไม่จำเป็นที่ต้องมีการตรวจหาสายพันธุ์อีกต่อไปในส่วนของประชาชนทั่วไป แต่ในส่วนของกรมวิทย์ฯ จะมีการสุ่มตรวจวิเคราะห์หาสายพันธุ์ไวรัส มีการตรวจหาเชื้อทั้งตัว เพื่อรายงานต่อ GUSAID เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ และหากโชคดีเชื่อว่า การติดเชื้อโอมิครอนนี้จะเป็นตัวจบเกม

อ้างอิง
https://www.posttoday.com