เรียกว่าเป็นการสยบทุกความเคลื่อนไหว และเป็นความเด็ดขาดของประธานรัฐสภาที่จะยืนยันอำนาจหน้าที่ของตัวเองในฐานะหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นการแสดงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเดิน
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติออกมา จากคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยให้มีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) สามารถทำได้หรือไม่
เสียง 8 : 1 วินิจฉัยว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
กลายเป็นเรื่องถกเถียงขึ้นมาทันทีกับคำวินิจฉัยสั้นนิดเดียวนี้เพราะทางฝ่ายนิติบัญญัติเตรียมเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามวันที่ 17-18 มี.ค.นี้แล้ว และต้องพิจารณากฎหมายตัวอื่นที่เกี่ยวข้องคือ ร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ และยังมีกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดอีก
บ้างก็ว่ายังมีความไม่ชัดเจน เพราะถ้อยคำต้องตีความแบบคำต่อคำ อย่าง “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้” เขาก็ว่าหมายถึงอำนาจของรัฐสภาหรืออำนาจของ ส.ส.ร. เช่นนั้นแล้วจะสามารถตั้ง ส.ส.ร.โดยไม่ให้มีความเกี่ยวข้องกับรัฐสภาได้หรือไม่ หรือให้รัฐสภาเป็นผู้รับรองเพราะ “มีหน้าที่และอำนาจ”
บ้างก็ว่า กระบวนการที่ผ่านมาผิดไปทั้งหมด เพราะถ้าเช่นนั้นการ “ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” เท่ากับว่า ในสองวาระแรกที่ยังไม่มีการถามประชามติจากประชาชน ถือว่าเป็นกระบวนการที่ผิดขั้นตอนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
เรื่องนี้ถูกมองว่า กลายเป็น “ทางลง”สวยๆ ให้ ส.ว.บางส่วนที่ว่าจะไม่โหวตผ่านรัฐธรรมนูญ คราวนี้แทนที่จะอ้างเหตุผลเรื่องมีการแตะต้องเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบัน ก็บอกว่า ไม่อยากทำผิดขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญเดี๋ยวใครไปร้องเอาผิดขึ้นมา ก็โหวตคว่ำในวาระสามเสีย เท่านั้นก็เป็นการยื้อกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไปอีก
นอกจากกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหา การทำประชามติก็มีปัญหา เพราะในมาตรา 5 ที่แก้ไขระบุให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ภายใน 30 วันภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเหลื่อมล้ำเวลาขึ้นมาว่า จะตั้ง ส.ส.ร.ตอนไหน เพราะต้องเอาเวลาไปทำประชามติก่อน หรือยังไม่โหวตผ่านในวาระสาม ทำประชามติให้เสร็จก่อน
คำถามประชามติก็คงง่ายๆ ว่า “คุณประสงค์ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.หรือไม่” ไม่ต้องไปตั้งให้พิสดารพันลึกอะไรมาก แต่กว่าจะถึงเรื่องการตั้งคำถามประชามติก็มีตีกันเรื่องความคิดเห็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น คือคำวินิจฉัยมันสั้นเกินไปจนฝ่ายนิติบัญญัตินี่ก็ออกอาการงงแตกไปไม่น้อยเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันในหลักอำนาจนิติบัญญัติ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะจัดให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตรัฐธรรมนูญวาระสามต่อไปทันที โดยไม่ต้องผ่านการประชุมวิปฝ่ายค้าน รัฐบาลหรือวิปวุฒิสภา เพราะยืนยันว่า “นี่คือการแก้ไขเพิ่มเติมไม่ใช่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับที่จะต้องไปสอบถามประชาชน”
เรียกว่าเป็นการสยบทุกความเคลื่อนไหว และเป็นความเด็ดขาดของประธานรัฐสภาที่จะยืนยันอำนาจหน้าที่ของตัวเองในฐานะหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นการแสดงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องให้กระบวนการล่าช้า อะไรจะเกิดต่อไปใครยื่นศาลฯอีกว่าจะโหวตวาระสามหรือไม่ก็ไม่สนใจ
การตรวจสอบคานอำนาจก็ต้องมี แต่ไม่ใช่การระวังจนกระบวนการเดินหน้าไม่ได้